เปิดตัว “ดิ เอ็มดิสทริค” ย่านการค้าระดับโลก จิกซอว์ที่จะเติมเต็มความสมบูรณ์
เดอะมอลล์กรุ๊ปได้เปิดตัว ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere) อย่างยิ่งใหญ่ เป็นจิกซอว์ที่จะเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ดิ เอ็มดิสทริค (The Em District) พร้อมที่จะเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เริ่มกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง
การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับผู้คนทั่วโลกเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงกิจกรรมการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้น กรุงเทพฯ เมืองที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวพร้อมที่จะอ้าแขนรับผู้คนที่จะหลั่งไหลกลับเข้ามาเยี่ยมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ลิ้มลองอาหารที่อร่อยถูกปาก ผู้คนเป็นมิตรและช็อปปิ้งสินค้าถูกใจ
น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท สุขุมวิทซิตี้ มอลล์ จำกัด หญิงแกร่งในวงการค้าปลีก เปิดวิสัยทัศน์ถึง “ดิ เอ็มดิสทริค” จะเป็นจุดเริ่มต้นของค้าปลีกสินค้าลักชัวรี เป็นย่านการค้าใจกลางกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ศูนย์การค้า จะต้องไม่เหมือนใคร จะเป็นจุดเปลี่ยนเกม (Game Changer) ที่จะเสริมให้ประเทศไทยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
เรามาถอดรหัสกันว่าทำไม “ดิ เอ็มดิสทริค” จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ วิสัยทัศน์ของ “น.ส.ศุภลักษณ์” คือการสร้างย่านการค้าแห่งอนาคต เป็นศูนย์รวมธุรกิจ ความบันเทิง ศูนย์รวมการใช้ชีวิตอย่างมีระดับของย่านที่มีกำลังซื้อสูงสุดในประเทศ และเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ดิ เอ็มดิสทริค เป็นย่านการค้าแห่งใหม่ประกอบด้วยศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาสที่จำหน่ายสินค้าลักชัวรีและแบรนด์เนมระดับโลก 3 ศูนย์ ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และล่าสุดกับโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ บนเนื้อที่รวม 50 ไร่ พื้นที่ในศูนย์รวมกันกว่า 650,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 50,000 ล้านบาท บนทำเลสุดยอดสุขุมวิทใจกลางเมืองโอบล้อมความร่มรื่นสวนเบญจสิริขนาดใหญ่ 25 ไร่ โดยจะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.ปีหน้า และเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสแรกของปี 67
โดยศักยภาพของย่านการค้าแห่งนี้จะช่วยยกระดับให้กรุงเทพฯเป็นมหานครระดับโลก เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจะต้องไปช็อปปิ้งสินค้าลักชัวรีได้เหมือนมหานครนิวยอร์ก, ลอนดอน, ปารีส, โตเกียว, โซล, เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง
จากหลายปัจจัยที่เกื้อหนุน อาทิ เหตุการณ์ฮ่องกงที่ถูกจีนลดบทบาทลง นักลงทุนได้เคลื่อนย้ายออกจากฮ่องกง หลายๆแบรนด์ดังนำสต๊อกสินค้ามาจำหน่ายในไทย ย้ายอีเวนต์ใหญ่ๆเข้ามาจัดป๊อปอัปสโตร์และขายดีมากจากนักช็อปชาวไทยเพราะโควิดเดินทางไม่ได้กัน ซึ่งแบรนด์ดังๆต่างหาพื้นที่ เพื่อขยายธุรกิจจำหน่ายสินค้าลักชัวรีในไทย ขณะที่แบรนด์ชาแนล ที่สยามพารากอน กลายเป็นสาขาที่ขายดีที่สุดในโลกเป็นอันดับสาม รองจากอันดับหนึ่งและสองที่อยู่ในจีน
กรณีดังกล่าวตลาดในประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว เหลือเพียงรอนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามามากขนาดไหน ซึ่งจากตัวเลขปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเพียงแค่ 4 แสนคน ปีนี้เพิ่มเป็น 10 ล้านคน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ในปีหน้ามีการคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนและเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไป
คำถามมีอยู่ว่ารัฐบาลไทยจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเปลี่ยนเกมด้วยหรือไม่ เพราะท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เคยทำรายได้หลักเข้าประเทศมีการนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ต้องเป็นค้าปลีกในอนาคตที่สร้างประสบการณ์แบบอิมเมอร์ซีฟเข้ามาเสริมสร้างให้กรุงเทพฯเป็นแฟล็กชิปสโตร์ ศูนย์กลางของภูมิภาค จะต้องทำให้ได้ไม่เช่นนั้นจะโดนประเทศเวียดนามแซงหน้าแน่ หลังจากนำจุดอ่อนของไทยไปปรับปรุงและดึงดูดการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมไปที่โน่นกันหมด การรับจ้างผลิตสินค้าไม่ใช่แนวของไทยต่อไปอีกแล้วปล่อยเวียดนามทำไป
วิสัยทัศน์ของ น.ส.ศุภลักษณ์ มองว่า โครงการนี้สำเร็จด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่มองภาพรวมว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมและประเทศชาติอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วกับการร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์พัฒนาสยามพารากอน จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นสถานที่เช็กอินอันดับหนึ่งของโลกในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มดัง หรือการลงทุนสร้างดิ เอ็มโพเรียม ในยุคต้มยำกุ้ง ที่เงินบาทอ่อนค่าไปถึง 50 กว่าบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใครๆมองแล้วว่าไม่รอด แต่กลับประสบผลสำเร็จเนื่องจากนักท่องเที่ยวแห่เข้ามาท่องเที่ยวจากปีละ 7 ล้านขึ้นเป็น 17 ล้านคนภายใน 2 ปีเพราะมาเที่ยวไทยถูกมาก
อัพเดทข่าวธุรกิจล่าสุด แนะนำข่าวเพิ่มเติม : AIS เผยลูกค้าใช้โครงการคนละครึ่ง ดันยอดขายร้านค้าโต 3 เท่า